Headlines News :
Home » » สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

Written By Unknown on วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554 | 17:12



สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม "พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา" ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก ลำดับที่ 60 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว

พระองค์ทรงเป็นพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราส สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย พระมาตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปก เกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

นอกจากนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2 และทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้น ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย

พระประวัติ

สมเด็จ พระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1224 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 โดยได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า "'''พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา'''" รวมทั้ง ได้รับพระราชทานพรเป็นภาษามคธ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

"''เราได้ตั้งนามของบุตรีใน ราชสกุลนี้ว่า "สว่างวัฒนา" ดังนี้ ขอบุตรีนั้นจงเป็นผู้มีสุข เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค ไม่มีอุปัทวันตราย มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ดำรงอิศริยยศตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดายั่งยืนกาล นานเทอญ''"

พระองค์ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์

พระองค์เจ้าหญิง สว่างวัฒนาทรงได้รับการศึกษาตามแบบกุลสตรีในวังหลวง ทรงได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษถึงขั้นอ่านออกและฟังเข้าพระทัย ทรงมีพระพี่นางพระน้องนางที่สนิทสนมเป็นเพื่อนสนิทกลุ่มเดียวกัน คือ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระองค์เจ้านภาพรประภา พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 6 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา จึงเปลี่ยนเป็น '''พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา'''

พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม จนมีคำกล่าวว่า "หน้าตาคมสันองค์สว่าง พูดจากระจัดกระจ่างองค์สุนันทา" พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่ทรงมีพระชนม์ 16 พรรษา ดำรงพระอิสริยยศเป็น '''พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี''' โดยมีพระองค์เจ้าหญิงที่รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียง กับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

พระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์มีพระเกียรติยศเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็น สำคัญ จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2423 เกิดเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ระหว่างการเสด็จ แปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอิน จึงทำให้เกิดปัญหาในการจะออกพระนามในประกาศทางราชการ ซึ่งนำมาสู่การจัดระเบียบภายในพระราชสำนักว่าด้วยตำแหน่งพระภรรยาเจ้าให้ เป็นที่เรียบร้อย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชเทวี" ซึ่งถือเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรก และ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็น '''สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี''' โดยในวันงานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ก็ได้มีประกาศฐานะพระอัครมเหสีให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นโดยเพิ่มคำว่า “บรม” อีกหนึ่งคำ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น '''สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี''' ซึ่งเป็นตำแหน่งพระอัครมเหสี เนื่องจากพระองค์เป็นพระชนนีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5

หลังจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง พระอัครมเหสีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้สร้างพระตำหนัก ขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เพื่อให้เป็นที่ประทับของพระองค์ โดยเมื่อขึ้นพระตำหนักใหม่แล้ว ชาววังก็ออกพระนามลำลองว่า '''สมเด็จพระตำหนัก''' ตั้งแต่นั้นมา

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระ บรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไปนั้น ทำให้พระอิสริยยศของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ฯ เทียบเท่าพระองค์ และในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือน ยุโรปอย่างเป็นทางการนั้น ได้สถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พร้อมทั้งเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของพระภรรยาเจ้า จึงทำให้ฐานะของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ลดลงมาเป็นอันดับสองของพระราชวงศ์ฝ่ายใน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น '''สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี''' โดยข้าราชสำนักในสมัยนั้นออกพระนามว่า '''สมเด็จพระมาตุจฉา''' พระองค์ทรงเป็นพระธุระให้พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ทรงพระครรภ์จนถึงมีประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีพระประสูติกาลก่อนสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้เสด็จสวรรคตนั้น ได้มีพระราชดำรัสทรงฝากพระราชธิดาไว้กับพระองค์ด้วย

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า"



เมื่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระราชนัดดา เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ขึ้นเป็น '''สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า''' พระองค์ดำรงพระอิสริยยศนี้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จฯ สวรรคตในปี พ.ศ. 2489 ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าให้ทรงทราบ ดังนั้น พระองค์จึงทรงรำลึกว่า "มีหลานชาย 2 คน" เสมอ

ในรัชสมัยพระบาทสม เด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 เมื่อพระองค์ทรงเจิมสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแล้ว มีรับสั่งว่า "หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เข้ามาซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็ม ๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย" ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก้ผู้เข้าเฝ้า ณ ที่นั้นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงเลือนความจำด้วยพระชราภาพ และมักจะไม่ทรงพระดำรัสแล้ว

พระราชโอรสธิดา

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 8 พระองค์ ได้แก่
1 . สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา
4. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
5. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
6. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลวัฒนวดี
7. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
8. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ 4 วัน

นอก จากนี้ พระองค์ยังทรงรับอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กำพร้าพระมารดาอีก 4 พระองค์ นั่นคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร

ถึงแม้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจะมีความ เพรียบพร้อมไปในทุก ๆ ด้าน และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสองค์แรกจะได้รับพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกก็ตาม แต่พระองค์ก็ทรงได้รับความทุกข์จากการที่พระราชโอรสและพระราชธิดาสิ้นพระ ชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยในปี พ.ศ. 2422 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ พระราชโอรสลำดับที่ 2 ทรงสิ้นพระชนม์ลง ขณะที่มีพระชันษาเพียง 21 วันเท่านั้น และในปี พ.ศ. 2424 ก็ทรงสูญเสียสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา พระราชธิดาพระองค์ของพระองค์ไป เมื่อมีพระชันษาเพียง 4 ขวบเท่านั้น

ต่อ มา ในปี พ.ศ. 2436 พระราชธิดาองค์เล็กของพระองค์ และเป็นพระราชธิดาพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังไม่ได้รับการพระราชทานพระนาม ก็สิ้นพระชนม์ลงขณะที่มีพระชันษาเพียง 3 วันเท่านั้น หลังจากนั้นเพียง 1 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารก็เสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงพระกันแสงอย่างรุนแรง ไม่เสวยพระกระยาหาร ทำให้พระสุขภาพทรุดโทรมลง และทรงพระประชวรลงในที่สุด

พระองค์ ได้เสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อพักฟื้น จนพระสุขภาพดีขึ้น แต่เมื่อ พ.ศ. 2441 พระองค์ก็ทรงได้รับความทุกข์จนล้มป่วยลงอีกครั้ง โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลวัฒนวดี พระราชธิดาในพระองค์สิ้นพระชนม์ลง เมื่อมีพระชันษาเพียง 10 ปีเท่านั้น คณะแพทย์กราบบังคมทูลให้เสด็จฯ ไปประทับที่เมืองชายทะเลเพื่อรักษาพระองค์ แต่ยังมิได้เสด็จไป สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เมื่อพระชันษา 18 ปี ซึ่งการสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างต่อเนื่องทำให้พระองค์ทรงพระ ประชวรถึงกับทรงพระราชดำเนินไม่ได้ และทรงเศร้าโศกสุดหักห้ามพระราชหฤทัยจนไม่เสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลวัฒนวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน


ส่วน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกนั้น ก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2472 และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิทที่มีความใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด ซึ่งพระองค์ทรงหวังว่าจะฝากผีฝากไข้ไว้ด้วยนั้น ก็กลับสิ้นพระชนม์ลง 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477

ในปี พ.ศ. 2481 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาถนเรนทร ถูกจับกุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวก็ตกพระทัยและทรงต่อรองกับรัฐบาล โดยรับประกันด้วยพระราชทรัพย์ทั้งหมดที่พระองค์มีเพื่อแลกกับการปล่อยตัวกรม พระยาชัยนาถนเรนทร แต่ไม่สำเร็จ พระองค์ถึงกับรับสั่งว่า " ''ลูกตายไม่น้อยใจช้ำใจเลย เพราะมีเรื่องหักห้ามได้ว่าเป็นธรรมดาของโลก ครั้งนี้ทุกข์สุดที่จะทุกข์แล้ว''" โดยกรมพระยาชัยนาถนเรนทรถูกถอดฐานันดรศักดิ์เป็น "นักโทษชายรังสิต" และถูกนำตัวเขาไปยังคุกบางขวาง ในระหว่างนั้น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2491 หลังจากนั้น นักโทษชายรังสิตก็ได้รับการปล่อยตัวและได้คืนสู่พระฐานันดรศักดิ์เดิม กรมพระยาชัยนาถนเรนทร สิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2494

มีเพียงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบา พระราชธิดาบุญธรรมพระองค์เดียวเท่านั้นที่มีพระชนม์ชีพอยู่จนได้จัดพระบรมศพ

พระราชกรณียกิจ

หลัง จากงานพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าอยู่หัวเรื่อยมา เนื่องจากทรงสามารดจดจำพระราชกระแสได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นผู้รอบรู้การงานในพระราชสำนัก และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2436 สภาอุณาโลมแดงได้เริ่มจัดตั้งขึ้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภาชนนี ในปี พ.ศ. 2463 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาพระองค์ที่ 2 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สภานายิกาพระองค์แรก เป็นเวลานานถึง 35 ปี โดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากเพื่อบำรุงสภากาชาดไทย และตั้งกองทุนต่าง ๆ ในการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ

ด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขนั้น พระองค์ทรงสนับสนุนโรงศิริราชพยาบาล ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เรื่อยมาตราบจนพระองค์เสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสธิดาไปถึงจำนวน 6 พระองค์ ส่งผลให้พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่พระตำหนักศรีราชา ซึ่งพระองค์ทรงให้จัดสร้างสถานพยาบาลขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และพระองค์ยังทรงริเริ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้การรักษาแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลอีกด้วย นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานทุนส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ ไทยอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านการศึกษาพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ เพื่อบำรุงโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิเช่น โรงเรียนราชินี โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

สวรรคต


เมื่อ วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุม เมื่อเวลาประมาณ 2 ยาม เนื่องจากคณะแพทย์ที่รักษาสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ากราบบังคมทูลว่าพระ อาการหนักสุดที่จะเยียวยาแล้ว คงจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้า ภายในห้องพระบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนอยู่ปลายพระบาท พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลที่เฝ้าพระอาการ ส่วนหน้าห้องพระบรรทมนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถประทับอยู่ นอกจากนั้น ก็มีพระองค์เจ้าวาปีฯ หม่อมเจ้าหลานๆ และข้าหลวงหมอบเฝ้าเต็มไปหมด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระอาการจะไม่รอดตั้งแต่ 5 ทุ่ม จึงมาคอยส่งเสด็จกันพร้อมหน้าในวาระสุดท้าย หลังจากตีสองชาววังที่เฝ้าอยู่ในที่นั้นทั้งปวงต่างก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ เบาๆ ติดต่อกันโดยหาตัวผู้สวดไม่ได้ พอผ่านไปได้ 16 นาที สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เสด็จสู่สวรรค์อย่างสงบ เมื่อเวลา 2.16 น. โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมอบกราบถวายบังคมอยู่ปลายพระบาทนั่นเอง รวมพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน

หลังจากสมเด็จพระพันวัสสา อัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จนถึงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมศพลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปประดิษฐานเหนือพระยานมาศสามคาน แล้วอัญเชิญพระบรมศพออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าไตรที่พระโกศพระบรมศพ หลังจากนั้น พระบรมศพเคลื่อนขบวนไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง และถวายพระเพลิงพระบรมศพ และในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จพระราชดำเนินทรงเก็บพระบรมอัฐิ และเชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวังเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไว้ภายใต้ฐานชุกชีพระสัมพุทธวัฒโนภาส วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พระองค์ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้
1. เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในรุ่นแรกที่ได้รับพระราชทาน ม.จ.ก. จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงดำรงตำแหน่งมหาสวามินีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ พระองค์ทรงได้รับพระราชทานเมื่อปี พ.ศ. 2425 พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในพระองค์อื่น ๆ ดังนี้
- สมเด็จพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร)
- พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)
- พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน
- พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสงี่ยม
- พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา)
- พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์)
- พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี)

2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ทรง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 พระองค์ทรงได้รับพระราชทานพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในพระองค์อื่น ๆ ดังนี้
- พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)
- พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)

3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) ทรงได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436

4. เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ทรงได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2465

5. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ ทรงได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2462

อนุสรณ์สถาน
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
โรง พยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เดิมชื่อว่า โรงพยาบาลสมเด็จ เป็นโรงพยาบาลที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงจัดสร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2445 ทางโรงพยาบาลได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นภายในโรงพยาบาล นอกจากนี้ อาคารต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลนั้นยังได้รับพระราชทานนามตามพระนามของพระองค์ ได้แก่ ตึกพระพันวัสสา ตึกสว่างวัฒนา ตึกศรีสวรินทิรา ตึกบรมราชเทวี ตึกอัยยิกาเจ้า และตึกศรีสมเด็จ นอกจากนี้ ภายในโรงพยาบาลยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ ณ ตึกพระพันวัสสา เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ โรงเรียนวัฒโนทัย
เมื่อ พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานนามโรงเรียนจากพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนวัฒโนทัย" (โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ในปัจจุบัน) ตามพระนามเดิม คือ "สว่างวัฒนา" พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ในพิธีเปิดป้ายโรงเรียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2471 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพจึงได้ก่อสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิ ราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า รวมทั้ง สร้างอาคารศรีสวรินทิรา ขึ้นภายในโรงเรียน โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์และอาคารศรีสวรินทิราในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2528

อ้างอิง
1. สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ, โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2514
2. มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้้า, ศรีสวรินทิรานุสรณีย์, 2549, ISBN 974-94727-9-9
3. พระราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิการเจ้า ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๙, เล่ม ๗๓, หน้า ๑๒๔๒, ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙
4. รูปภาพ จาก คุณเจ้าคุณวิสุทธิฯ
Share this article :

0 ความคิดเห็น:

Speak up your mind

Tell us what you're thinking... !

Comment

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Proudly powered by Blogger
Copyright © 2011. ศาลจังหวัดสงขลา - All Rights Reserved
Template Design by Creating Website Published by Mas Template